วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เบญจขันธ์ หรือ ขันธ์ 5

เบญจขันธ์ หรือ ขันธ์ 5

เบญจขันธ์ หมายถึง กองแห่งรูปธรรมและนามธรรมห้าหมวดที่ประชุมกันเข้าเป็นชีวิต

ขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

1. รูปขันธ์ กองรูป ส่วนที่เป็นรูป ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่าง ๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด

2. เวทนาขันธ์ กองเวทนา ส่วนที่เป็นการเสวยรสอารมณ์ ความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ

เมื่อรับรู้เกิดความพอใจ มนุษย์เรียกว่า สุข เมื่อรับรู้เกิดความไม่พอใจ มนุษย์เรียกว่า ทุกข์ เมื่อรับรู้แล้วไม่ทุกข์ไม่สุข เรียกว่า อุเบกขา

3. สัญญาขันธ์ กองสัญญา ส่วนที่เป็นความกำหนดหมายให้จำอารมณ์นั้น ๆได้ ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ 6 เช่น เสียงดัง รูปสวย กลิ่นหอม รสหวาน ร้อน และดีใจ

4. สังขารขันธ์ กองสังขาร ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลาง ๆ คุณสมบัติต่าง ๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพ ของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต

5. วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์ ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6


อายตนะ แปลว่า บ่อเกิดหรือสื่อสัมพันธ์ บ่อเกิดหรือสื่อสัมพันธ์ ของอายตนะทั้งสองแล้วเกิดอารมณ์ขึ้น อายตนะมีตาเป็นต้น เมื่อสัมผัสกับรูปแล้ว ก็ติดต่อสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องถึงประสาทเข้ามาหาใจ แล้วใจก็รับเอามาเป็นอารมณ์ ถ้าดีก็ชอบใจ สนุก เพลิดเพลิน ถ้าไม่ดีก็ไม่ชอบใจ คับแค้นเป็นทุกข์โทมนัสต่อไป

อายตนะ ประกอบด้วย อายตนะภายใน 6 และอายตนะภายนอก 6

หู ที่เสียงดังมากระทบ เรียกว่า โสตวิญญาณ
ตา ที่เห็นวัตถุรูป เรียกว่า จักษุวิญญาณ
จมูก ที่ดมกลิ่นสารพัดทั้งปวง เรียกว่า ฆานวิญญาณ
ลิ้น ที่รับรสทุก ๆ อย่างที่มาสัมผัส

เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ

กาย ที่ถูกสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งอันจะรู้ ได้ทางกาย เรียกว่า กายวิญญาณ
ใจ ความรู้สึกนึกคิดในอารมณ์นั้น ๆ เรียกว่า มโนวิญญาณ

อายตนะทั้ง 6 นี้ย่อมรับทำหน้าที่แต่ละแผนก ๆ ไม่ปะปนกัน เช่นตารับทำหน้าที่แต่เฉพาะไว้ดูรูปเท่านั้น ให้หูดูแทนไม่ได้เด็ดขาด จึงเรียกว่าเป็นใหญ่ในหน้าที่นั้น

ฉะนั้นเมื่อพูดถึงอายตนะภายใน 6 แล้ว ขอกล่าวถึงคู่ของอายตนะภายในไปพร้อม ๆ กัน จึงจะเห็นประโยชน์ของอายตนะ 6 ที่ว่าเป็นของอยู่ในตัวของเราเรียกว่า อายตนะภายใน สิ่งที่เป็นคู่กับอายตะภายใน เช่น รูปเป็นคู่กับตา เสียงเป็นคู่กับหู เป็นต้น เรียกว่า อายตนะภายนอก

ถ้าอายตนะภายในตัวไม่มีคู่ เช่น มีแต่ตาอย่างเดียวไม่มีรูปให้เห็นก็ไม่มีประโยชน์อันใดเลยหรือมีแต่รูปอย่าง เดียวไม่มีตาดูก็จะมีประโยชน์เช่นกัน แต่เมื่อเห็นรูปแล้วย่อมมีทั้งคุณและโทษเหมือน ๆ กับผู้รับผิดชอบการงานในหน้าที่นั้นๆ จะต้องรับผิดชอบทั้งดีและไม่ดี อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกกระทบกันเข้านี่แหละที่ทำให้เกิดคุณและโทษก็อยู่ ที่ตรงนี้

ฉะนั้นอารมณ์ที่เกิดจากอายตนะทั้งสองนี้ จึงเป็นเหมือนกับมิตรและศัตรูไปพร้อม ๆ กัน

แต่มิตรไม่เป็นไรเรายอมรับทุกเมื่อ แต่ศัตรูนี้ซิ ตาเกลียดนักจึงคอยตั้งป้อมต่อสู้มัน

อายตนะภายใน 6 อย่างนี้ เมื่อใครได้มาเป็นสมบัติของตนครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่วิกลวิกาลแล้วจึงนับ ได้ว่าเป็นลาภของผู้นั้นแล้ว เพราะมันเป็นทรัพย์ภายใน อันมีคุณค่ามหาศาล ยากที่จะหาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในท้องตลาดได้ ทรัพย์ภายนอกจะมีมากน้อยสักเท่าไร จะดีหรือจะมีคุณค่า จะมีประโยชน์หรือไม่ หากขาดทรัพย์ภายในแล้ว ก็ไม่สำเร็จผลอะไรเลย

อนึ่งทรัพย์ภายใน 6 กองนี้ มีแล้วใช้ได้ไม่รู้จักหมดสิ้นจนถึงวันตาย เป็นแก้วสารพัดนึกให้สำเร็จความปรารถนาได้ทุกสิ่ง เมื่อได้มาโดยมิต้องลงทุนหรือจะลงทุนบ้างเล็กน้อย แต่ได้ผล ล้นค่า เหมือนกับได้ทิพย์สมบัติ 6 กองอย่างน่าภาคภูมิใจด้วย หากใครได้เกิดมาในโลกนี้ไม่ได้สมบัติ 6 กองนี้ หรือได้แต่ไม่ครบถ้วน ก็เท่ากับเป็นคนอาภัพในโลกนี้ แล้วสมบัติ 6 กองนี้เป็นของผู้ที่เกิดมาในกามโลก บัญญัติธรรมเรียกว่า "กามคุณ 5" เพราะผู้ที่ได้ประสบอารมณ์ 5 นี้แล้วชอบใจ ติดใจ เข้าไปฝังแน่นอยู่ในใจ เห็นเป็นคุณทั้งหมด หากจะเห็นโทษของมันอยู่บ้างบางกรณี แต่ก็ยากนักที่เอาโทษนั้นมาลบล้างคุณของมัน ฉะนั้นเหมาะสมแล้วที่เรียกว่า "กามคุณ"

สรุปแล้วขันธ์ 5 นี้ ย่อลงมาเป็น2 คือ รูป และ นาม

รูปขันธ์จัดเป็นรูป และ 4 นามขันธ์ จัดเป็นปรมัตถธรรม 4 ได้แก่ เวทนาขันธ์ 1 สัญญาขันธ์ 1 สังขารขันธ์1 และวิญญาณขันธ์ 1 จัดเป็นจิตหรือ เป็น เจตสิก ส่วน

นิพพาน เป็นขันธ์วินิมุต คือ พ้นจากขันธ์ 5 สรรพสิ่งทั้งหลายในอนันตจักรวาลนั้น

แยกประเภทได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่

1. ส่วนที่เป็นวัตถุทั้งหลาย ( รูปขันธ์ ประกอบด้วย ธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ )

สสารและพลังงานทั้งหลาย แสง สีทั้งหลาย เสียง กลิ่น รส ความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง ความหย่อน ความตึง อาการเคลื่อนไหวของสิ่งต่าง ๆ ช่องว่างต่าง ๆ อากาศ ดิน น้ำ ไฟ ลม สภาพแห่งความเป็นหญิง เป็นชาย เนื้อสมองและระบบของเส้นประสาททั้งหลาย อันเป็นฐาน ให้จิตเกิด รวมทั้งอาการแห่งความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมไป ดับไปของวัตถุทั้งหลายด้วย

ซึ่งรวมเรียกว่า รูปขันธ์

2. ส่วนที่เป็นความรู้สึกและความคิดทั้งหลาย

รวมเรียกว่านามขันธ์ คือ ปรมัตถธรรม 4 ได้แก่

2.1 เวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึกเป็นสุขทางกาย ทุกข์ทางกาย โสมนัส(สุขทางใจ) โทมนัส(ทุกข์ทางใจ) อุเบกขาหรือ อทุกขเวทนา อสุขเวทนา เป็นกลางๆ

(ไม่สุขไม่ทุกข์ )

2.2 สัญญาขันธ์ คือ ความจำได้หมายรู้ในสิ่งต่างๆ คือส่วนที่ทำหน้าที่ในการจำนั่นเอง (ไม่ใช่เนื้อสมอง แต่เป็นส่วนของความรู้สึกนึกคิด เนื้อสมองนั้นจัดเป็นรูปขันธ์ เนื้อสมองเป็นเหมือนสำนักงาน ส่วนนามขันธ์ทั้งหลายเหมือนผู้ที่ทำงานในสำนักงานนั้น)

2.3 สังขารขันธ์ คือ ส่วนที่ปรุงแต่งจิต คือสภาพที่ปรากฏของจิตนั่นเอง เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทาน(สภาพของจิตที่สละสิ่งต่างๆ ออกไป) ความเมตตา กรุณา มุทิตา สมาธิ ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่ท้อถอย ความง่วง ความละอาย ความเกรงกลัว ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัว เจตนาในการทำสิ่งต่าง ๆ ความลังเลสงสัย ความมั่นใจ ความเย่อหยิ่งถือตัว ความเพียร ความยินดี ความพอใจ ความอิจฉา ความตระหนี่ ศรัทธา สติ ปัญญา การคิด การตรึกตรอง

2.4 วิญญาณขันธ์ หรือ จิต คือผู้ที่รับรู้สิ่งทั้งปวง คือรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ ตั้งแต่ เวทนาขัน สัญญาขันธ์ จนถึงสังขารขันธ์ และเป็นผู้รับรู้ถึงส่วนที่เป็นรูปขันธ์ทั้งหลายด้วย อันได้แก่เป็นผู้รับรู้สิ่งทั้งหลาย ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นเอง รวมถึงเป็นผู้รับรู้ในสภาวะแห่ง นิพพาน ด้วย

3. นิพพาน คือ สภาวะที่พ้นจากรูปขันธ์และนามขันธ์ทั้งปวง

หรือสภาวะจิตที่พ้นจากความยึดมั่นผูกพันใน สิ่งทั้งปวง รวมถึงไม่ยึดมั่นในนิพพานด้วย

นิพพาน = นิ + วาน (ในภาษาบาลีนั้น ว. กับ พ. ใช้แทนกันได้ วาน จึงเท่ากับ พาน)

นิ = พ้น

วาน = สิ่งที่เกี่ยวโยงไว้ ได้แก่ ตัณหา คือ ความทะยานอยากและอุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง

นิพพาน แปลตามตัวจึงหมายถึงความพ้นจากเครื่องเกี่ยวโยง(ตัณหาและอุปาทาน) นั่นเอง

สรุปแล้วขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

โดยที่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ รวมเรียกว่าเจตสิก ซึ่งแปลว่าเป็นสิ่งที่เกิดร่วมกับจิตเสมอ จิตและเจตสิกจะเกิดและดับพร้อมกันเสมอ จะแยกกันเกิดไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่ เพียงแต่ว่าตอนนั้นนามขันธ์ตัวไหนจะแสดงตัวเด่นกว่าตัวอื่นเท่านั้นเอง